น้ำเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ กิจกรรมต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตในน้ำย่อมเกี่ยวข้องกับน้ำทั้งสิ้น โดยเฉพาะสัตว์น้ำเป็นที่อยู่อาศัย ดำรงชีวิต กินอาหาร สืบพันธุ์ และอื่นๆ การพิจารณาเกี่ยวกับน้ำสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนั้น แบ่งออกเป็นสองลักษณะ คือคุณภาพและปริมาณ ซึ่งทั้งสองลักษณะนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด กล่าวคือถ้าคุณภาพน้ำดี ปริมาณที่ใช้ย่อมน้อยลง ในทางตรงกันข้าม ถ้าน้ำที่ใช้ด้อยคุณภาพ ก็จำเป็นต้องใช้ในปริมาณที่สูง เพื่อให้สิ่งมีชีวิตในน้ำมีความเป็นอยู่อย่างสบาย
มาตรฐานคุณภาพน้ำที่เหมาะสมสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำค่อนข้างที่จะกำหนดเกณฑ์ต่างๆ ได้ยาก เนื่องจากสัตว์น้ำมีมากมายหลายชนิด ทั้งในเขตอบอุ่นและเขตหนาว ความคงทนต่อสภาพแวดล้อมของสัตว์แต่ละชนิดแต่ละวัยก็แตกต่างกัน จึงทำให้เกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดนั้นต้องถูกยืดหยุ่นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม เบื้องต้นจึงได้กำหนดไว้ 3 ลักษณะ ดังนี้
- ลักษณะทางกายภาพ หมายถึงดัชนีคุณภาพน้ำที่ผันแปรอันเกิดจากลักษณะกายภาพที่สามารถตรวจวัดได้ เช่น สี ความขุ่น อุณหภูมิ ความนำไฟฟ้า ปริมาณสารแขวนลอย และอื่นๆ
- ลักษณะทางเคมีภาพ หมายถึงดัชนีคุณภาพน้ำที่ผันแปรอันเกิดจากปฏิกิริยาเคมีที่สามารถตรวจวัดได้ และส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ความเป็นกรดด่าง ความกระด้าง ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อิสระ ไนโตรเจน ฟอสฟอร้ส ไฮโดรเจนซัลไฟต์ ความเค็ม โลหะหนัก และอื่นๆ
- ลักษณะทางชีวภาพ หมายถึงดัชนีคุณภาพน้ำที่ผันแปรอันเกิดจากสิ่งมีชีวิตในน้ำที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น แพลงก์ตอนพืชและสัตว์ แบคทีเรีย พืชน้ำ และเชื้อโรค
จะเห็นได้ชัดเจนว่าดัชนีคุณภาพทั้ง 3 ลักษณะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมมากมาย ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตและกระบวนการต่างๆ ในน้ำทั้งสิ้น
พารามิเตอร์หนึ่งที่จะสามารถประเมินคุณภาพน้ำได้เบื้องต้น คือค่าความเป็นกรดด่าง โดยตามแหล่งน้ำธรรมชาติจะพบค่า pH ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศนั้นๆ คุณภาพน้ำขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้แก่
- ลักษณะพื้นดินและหินตลอดจนการใช้ดินของบริเวณแหล่งนั้นๆ
- อิทธิพลของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำ เช่น พวกจุลินทรีย์ แพลงก์ตอน
- pH ของน้ำก็มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ในแหล่งน้ำต่างๆ
- พืชน้ำนั้นสามารถใช้ธาตุอาหารได้ดี และไม่ได้ขึ้นอยู่กับ“ค่า pH ของน้ำ” แต่หากระดับ pH นั้นต่ำกว่า 4.5 หมายถึงพืชน้ำนั้นเจริญเติบโตได้ไม่ดี แต่ขณะเดียวกันหากค่า pH มีค่าต่ำหรือสูงเกินไปก็ไม่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ค่า pH ที่เหมาะสมกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
- pH 4.0 หรือต่ำกว่า คือเป็นจุดที่อันตรายส่งผลอาจทำให้ปลาตายได้
- pH 4.0 – 6.0 คือ ปลาบางชนิดอาจไม่ส่งผลกระทบถึงตาย แต่ผลผลิตจะต่ำ การเจริญเติบโตช้า การสืบพันธุ์หยุดชะงัก
- pH 6.5 – 9.0 คือ ระดับที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
- pH 9.0 – 11.0 คือ ไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ หากต้องอาศัยอยู่เป็นเวลานาน
- pH 11.0 หรือมากกว่า คือเป็นพิษต่อปลา คุณภาพน้ำไม่ดี
เนื่องจากในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะต้องมีการควบคุมคุณภาพน้ำอย่างเคร่งครัดเพื่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ ดังนั้นเครื่องวัดค่าความเป็นกรดด่างจึงจำเป็นอย่างมากในการควบคุมน้ำ การเปลี่ยนแปลงของค่า pH ในช่วงตอนกลางวันและตอนกลางคืนสืบเนื่องจากแพลงก์ตอนพืชและพืชน้ำจะใช้คาร์บอนไดออกไซด์เพื่อทำการสังเคราะห์แสงในตอนกลางวันส่งผลทำให้ค่า pH สูง และจะค่อยๆ ลดตอนกลางคืนเนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยคืนกลับมาจากการหายใจของสิ่งมีชีวิตในน้ำ น้ำที่มีค่าความเป็นด่าง (Alkalinity) ต่ำจะมีปริมาณแพลงก์ตอนพืชมากพบว่า pH จะสูงในช่วง 9 – 10 ในช่วงบ่าย ดังนั้นการตรวจสอบค่า pH จากเครื่องในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควรตรวจในช่วงตอนเช้ามืดและช่วงบ่าย เพื่อให้ทราบค่า pH ต่ำสุดและสูงสุดในรอบวันเพื่อที่จะหาแนวทางแก้ปัญหาคุณภาพน้ำได้ทันที เพื่อทำให้คุณภาพน้ำดี กรณีค่า pH สูงในช่วง 9 – 10 หากเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ จะไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ และแหล่งน้ำที่เหมาะสมต่อการเพาะไม่ควรมีค่า pH เปลี่ยนแปลงเกิน 2 หน่วยในรอบวัน นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อสัตว์น้ำแล้วยังส่งผลทางอ้อมด้วย เช่น ทำให้สารพิษชนิดอื่นๆ แตกตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง เช่น pH ระดับสูงขึ้นทำให้คุณภาพน้ำเป็นพิษของแอมโมเนียเพิ่มมากขึ้น การแทรกซึมของสารพิษบางชนิดเข้าสู่ร่างกายสัตว์น้ำขึ้นอยู่กับคุณภาพน้ำ ค่า pH ของสารละลายนั้นๆ นอกจากนี้การใส่ปุ๋ยในบ่อปลาหากปรากฏว่าน้ำหรือดินในบ่อที่มีสภาพเป็นกรดมากเกินไปจะต้องปรับปรุงค่า pH สูงขึ้นจนอยู่ในระดับที่เหมาะสมเสียก่อนจึงใส่ปุ๋ย เพื่อที่จะให้ปุ๋ยสามารถละลาย และถูกนำไปใช้โดยสิ่งมีชีวิตได้อย่างมี ประสิทธิภาพพร้อมกับคุณภาพน้ำที่ดี
การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เป็นทางเลือกของเกษตรกรที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างน่าพอใจ แต่จะได้ผลดีมากยิ่งขึ้นทางเกษตรกรจะต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อนำมาปรับเปลี่ยน หรือประยุกต์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง และเกิดประโยชน์สูงสุด
ค่า pH ในบ่อเพาะเลี้ยงเป็นปัจจัยสำคัญส่งผลต่อการเจริญเติบของปลาโดยตรง สามารถสังเกตได้ง่ายๆ เมื่อพบปลาแสดงอาการลอยหัวขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ หรือน้ำใสกว่าปกติ ถือว่าน้ำนั้นมีความผิดปกติของค่าความเป็นกลางของน้ำในบ่อแน่นอน ดังนั้นเกษตรกรควรรีบแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
การวิเคราะห์คุณภาพน้ำ เช่น “ความเค็ม” ความเป็นกรดด่าง ความเป็นด่าง ความกระด้าง และปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ ฯลฯ เครื่องมือวิเคราะห์คุณภาพน้ำเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ดังนั้นการควบคุมและป้องกันคุณภาพน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำจึงต้องสังเกตสัตว์น้ำและตรวจสอบคุณสมบัติของน้ำอย่างสม่ำเสมอ
บริษัท ฮานนา อินสทรูเม้นท์ส (ประเทศไทย) จำกัด
ผู้ผลิตเครื่องมือวัดชั้นนำ
“เพราะเราเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดสำหรับคุณ”
WITH GREAT PRODUCTS, COME GREAT RESULTS.
Email Addresses
info@hannathaicom
CONTACT US
Line : @hannathailand
FB : HannaThailand